วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551

ประโยชน์ชองข้อมูลสถิติ

ประโยชน์ของข้อมูลสถิติข้อมูลสถิติ

มีความสำคัญและจำเป็นต่อการบริหารงานและพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือ สำหรับ ผู้บริหาร ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในการจัดทำแผนงาน กำหนดนโยบายหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นประโยชน์ของข้อมูลสามารถจำแนกตามการใช้ที่สำคัญๆ ได้ดังนี้
- ข้อมูลสถิติที่ใช้ในการบริหาร เป็นข้อมูลสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ได้ผลิตขึ้นมา เพื่อใช้ในการบริหารและควบคุมการดำเนินงานประจำในสายงานต่างๆ หรือตรวจสอบผลการบริหารงาน เช่น ข้อมูลสถิติจากระบบทะเบียนราษฎร สามารถนำไปใช้ในการกำหนดเขตการเลือกตั้ง การเกณฑ์ทหาร หรือการเข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ เป็นต้น
- ข้อมูลสถิติที่ใช้ในการพัฒนา ข้อมูลสถิติมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศ ประโยชน์ของข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนานั้น สามารถแยกพิจารณาได้ 3 กรณี คือ

1) การใช้ข้อมูลสถิติ สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัย ข้อมูลสถิติเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผน การกำหนดเป้าหมาย และทิศทางของการพัฒนา เช่น การกำหนด หรือ การวางนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาภาคบังคับ การวางนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน การวางนโยบายเกี่ยวกับ การค้าทั้งในประเทศและนอกประเทศ อัตราค่าจ้างแรงงาน การเก็บภาษีอากร เป็นต้น ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบันนี้ ข้อมูลสถิติเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบาย และแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะใช้เป็นเครื่องเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อรัฐบาลจะได้กำหนดนโยบายหรือแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

2) การใช้ข้อมูลสถิติ สำหรับการติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนา หรือ โครงการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานราชการได้จัดทำโครงการพัฒนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อทำการตรวจสอบและติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าวว่า ได้ผลมากน้อยเพียงใด เพื่อผู้บริหาร สามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงแผนการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและทันเวลา หรือเพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ สำหรับการวางแผนโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการติดตามผลโครงการ คือ
• เพื่อรายงานความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
• เพื่อชี้ประเด็นของปัญหา ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหา
• เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานของโครงการในระยะต่อไป หรือเพื่อเป็นแนวทางใน การจัดทำแผนปฏิบัติงานของโครงการอื่นๆ
• เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานของโครงการหรือคณะทำงานมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน

3) การใช้ข้อมูลสถิติ สำหรับการประเมินผลแผนพัฒนาหรือโครงการพัฒนา เมื่อการดำเนินงานตามแผนงาน / โครงการพัฒนาได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จำเป็นต้องมีการประเมินผลหรือวัดผลการ พัฒนาว่าได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงไร จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลสถิติเป็นเครื่องมือที่ชี้บอก ความสำเร็จหรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการพัฒนา

ตัวอย่างการใช้ข้อมูลสถิติสำหรับการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่สำคัญในภาครัฐ
• ด้านการศึกษา ในการกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาการศึกษาและการกระจายโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในระดับการศึกษาต่างๆ นั้น ข้อมูลสำคัญที่ต้องการใช้ ได้แก่ ประชากรก่อนวัยเรียนและวัยเรียน บุคลากรทางการศึกษา ปริมาณการผลิตและพัฒนาครูในแต่ละสาขา จำนวนสถานศึกษา ค่าใช้จ่ายในแต่ละระดับการศึกษา เป็นต้น
• ด้านการเกษตร ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาทางการเกษตรของประเทศ ข้อมูล ที่ต้องการใช้ ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำการเกษตร เนื้อที่การเพาะปลูก ผลิตผลทางการเกษตร จำนวนปศุสัตว์ ราคาสินค้าเกษตรกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตร การประมง การป่าไม้ ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ และ การชลประทาน เป็นต้น
• ด้านอุตสาหกรรม ใช้จัดทำแผนงาน หรือกำหนดนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งเสริม - การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตทางอุตสาหกรรม ต้นทุนการผลิต จำนวน แรงงาน ค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ มูลค่าเพิ่ม ฯลฯ
• ด้านรายได้ - รายจ่ายของครัวเรือน เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ใช้วัดความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจ การครองชีพและการกระจายรายได้ของประชากร ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญ ของผลการพัฒนาประเทศ ข้อมูลสถิติที่สำคัญ ได้แก่ รายได้รายจ่ายของครัวเรือน ภาวะหนี้สิน สภาพความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยของครัวเรือน เป็นต้น
• ด้านสาธารณสุข การจัดทำแผนพัฒนาด้านสาธารณสุข การพัฒนางานวิชาการทางการแพทย์ / สาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี จำเป็นต้องใช้สถิติเกี่ยวกับการเกิด การตาย การเจ็บป่วยของประชาชน การรักษาพยาบาล ความเป็นอยู่และสภาพทางสังคมของประชากร การอนามัยและสุขาภิบาล พฤติกรรมด้านการบริโภค การสูบบุหรี่และดื่มสุรา เป็นต้น
• ด้านคมนาคมและขนส่ง การปรับปรุงบริการและพัฒนาทางการคมนาคม ขนส่ง และการสื่อสารของประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ และกระจายความเจริญไป สู่ภูมิภาค ข้อมูลที่ใช้ ได้แก่ รายรับ - รายจ่ายของการประกอบการขนส่ง ปริมาณผู้ใช้บริการในแต่ละเส้นทาง ปริมาณการขนส่ง ทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ รายละเอียดเส้นทาง คมนาคม ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรความถี่วิทยุ จำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องรับวิทยุ - โทรทัศน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติยังเป็นที่ต้องการและใช้กันอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายในวงการธุรกิจ เอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยข้อมูลในการวางแผนด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ความก้าวหน้าได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนด้านการผลิต การตลาด การโฆษณา การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ และสภาวะการแข่งขัน จะต้องอาศัยการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติต่างๆ ที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ในการวางแผน และการตัดสินใจในด้านต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสี่ยงที่จะต้องประสบความล้มเหลวในการดำเนินการ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจได้เป็นผลสำเร็จ